ปลุกเสกวัฒนธรรมเป็นเสาหลักเศรษฐกิจฉบับโสมขาว

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ประชาคมโลกรู้จักและโจษขานเป็น “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ด้วยเหตุที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย ได้สร้างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจดินแดนโสมขาว…เกาหลีใต้
เปลี่ยนยังไง?เปลี่ยนทำไม?:
พลานุภาพแห่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ขย่มเขย่าประชาคมเศรษฐกิจทั่วโลกให้โยกคลอน ถูกรัฐบาลเกาหลีใต้แปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจครั้งสำคัญ และกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศด้วยฐานอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสินค้า ไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม โดยชูเศรษฐกิจวัฒนธรรม เป็นเสมือน”หัวรถจักรใหม่” ทำหน้าที่ฉุดกระชากลากระบบเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากหุบเหววิกฤตเศรษฐกิจ
ผู้นำรัฐบาลเกาหลีใต้เวลานั้น มีความเชื่อมั่นเต็มพิกัดในขุมพลังของเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่จะมีขีดความสามารถเหนี่ยวนำอุตสาหกรรมทั้งหลายที่สลบไสลจากพิษวิกฤตต้มยำกุ้งให้กลับมาฟื้นตัว และเปี่ยมความสดชื่นแจ่มใสมีชีวิตชีวามากกกว่าเก่า
จากวิสัยทัศน์ สู่ ยุทธศาสตร์ที่เป็นจริง :
เมื่อผู้นำประเทศปักหมุด กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ
ด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม ก็มีการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการ และจัดทำชุดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินค้าทางวัฒนธรรมออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
เริ่มต้นด้วยการตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว พร้อมกับกำหนดบทบาทหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ให้ทำหน้าที่เจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม
จากกระทรวงวัฒนธรรมฯ ต่อเนื่องตามมาด้วยการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมกิจการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ Korean Culture and Contents Agency-KOCCA ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมฯ เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนา และส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการตลาดสินค้าทางวัฒนธรรมแบบเบ็ดเสร็จ ครอบคลุม 9 มิติ
1. Animation
2. Music
3. Character License
4. Comics
5. Mobiles Internet Contents
6. Entertainment Contents
7. Movies
8. TV.Programe
9. Games
นอกเหนือจากการจัดระเบียบโครงสร้างการเดินหน้าส่งเสริม
สนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และเป็นรูปธรรมแล้ว รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ยังออกมาตรการทางกฏหมายที่กำหนดให้ผู้นำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศต้องวางเงินประกันในอัตราเรื่องละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,400,000 บาท และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ต้องจัดฉายภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนเกาหลีไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของรอบฉายทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการลดหย่อนภาษีแก่กิจการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการสร้างภาพยนตร์-ซีรีส์อีกด้วย
20 กว่าปีผ่านไป จากวันนั้น…ถึงวันนี้ผลลัพธ์อันแสนงดงาม จากวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ทะยอยผลิดอกออกช่อให้ชนชาวเกาหลีใต้ได้ชื่นใจ
ในเบื้องแรก ด้วยซีรีส์ยาวเฟื้อย 54 ตอน เรื่อง ”แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ซึ่งประกาศศักดาความเป็นเกาหลี และปล่อยเชื้อ K-Wave ให้ระบาดไปทั่วทั้งโลก ในช่วงทศวรรษที่ 2540 นั่นเอง
10 ปีต่อมา ช่วงทศวรรษที่ 2550 กระแส K-Wave ถูกเพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกด้วย “กังนัมสไตล์”
มาถึงทศวรรษปัจจุบัน…ทศวรรษที่ 2560 พลังของ K-Wave ได้แผ่ซ่านเข้าครอบงำโลกภาพยนตร์อย่างสง่างาม ด้วย “Parasite” ซึ่งผงาดกวาดรางวัลระดับขั้นสุดยอดของวงการภาพยนตร์โลก ด้วยการคว้ารางวัลออสการ์ปีล่าสุด..2563 มาครอบครองได้อย่างสง่างาม
ดูความสำเร็จของสาธารณรัฐเกาหลีที่ก้าวข้ามกับดักวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม…แล้วหันกลับมาดูประเทศไทยที่ยังเงอะงะติดหล่มจมปลักอยู่กับชุดความคิดเก่าคร่ำครึ ได้แต่ต้องถอนหายใจหลายๆ เฮือก…เฮ้อ!!!!
ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
12 ก.ย. 2563

About the Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save