อั๊กลี่อเมริกันแบบทรัมป์..ทรัมป์

ซ่า-แสบ-แซ่บ ตั้งแต่หยดแรก จนถึงหยดสุดท้ายจริงๆสำหรับคนสูงวัยอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีของประเทศประชาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลสูงที่สุดของโลก…
ประเดิมฉากแรก ตอนขึ้นเถลิงตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆเมื่อ 4 ปีก่อน พี่แกก็เก็บกวาดผลงานเก่าๆที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เริ่มต้นไว้ แล้วจัดการขยี้ทิ้งขยะ
โอบามาแคร์ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ชาวอเมริกัน…ภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจทรานแปซิฟิค หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “Trans Pacific Partnership-TPP” พังพาบพับเพียบสนิท นับจากวันที่ทรัมพ์ขึ้นสู่อำนาจ
ทรัมป์ ยังใช้สถานะความเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของชาติอเมริกา และข้ออ้างความมุ่งมั่นทำอเมริกาให้กลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง(America Great Again) เที่ยวอาละวาดฟาดงวงฟาดงากับนานาประเทศจนปั่นป่วนไปหมด
ภาพลักษณ์อเมริกาภายใต้ผู้นำชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ในสายตาประชาคมโลก ไม่ต่างอะไรกับที่ปรากฏในภาพยนตร์ “Ugly American” ซึ่งมาลอน แบรนโด เชือดเฉือนลีลาและคารมกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ 58 ปีก่อน
จีน คือชาติที่ทรัมป์ ล็อคเป้า ถล่มด้วยเล่ห์เพทุบายสารพัด เพื่อหวังจะสกดจีนไม่ให้ใหญ่แซงหน้าอเมริกา ถึงขั้นสมคบกับประเทศแนวร่วมบางชาติจับกุมตัวทายาทประธานค่ายหัวเว่ยเอาไว้ พร้อมกับยัดเยียดข้อหาแอบงุบงิบทำมาหากินกับประเทศอิหร่าน ที่ถูกอเมริกาขึ้นบัญชีดำ แถมยังกดดันมิตรประเทศที่ว่านอนสอนง่ายให้แบนอุปกรณ์หัวเว่ย ในการติดตั้งระบบโทรคมนาคม 5 จี
วิสัยทัศน์ America Great Again แบบห้าวเป้งตามสไตล์ทรัมป์ ไม่เพียงไม่มีอะไรเป็นโล้เป็นพาย หามรรคหาผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ซ้ำร้ายยังสะสมแต้มความอับอายขายขี้หน้า ทำให้อเมริกากลายเป็น”กุ๊ยบันลือโลก” หรือ “Ugly American” ในโลกของความเป็นจริง ส่งผลให้คะแนนนิยมของทรัมป์นับวันยิ่งย่ำแย่ย่อบแย่บ…กู่ไม่กลับ กู้ไม่ขึ้น
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ลงเอยด้วยชัยชนะเหนือทรัมป์ จากพรรครีพับริกัน แบบขาดลอยของโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครท คือข้อพิสูจน์ยืนยันชัดเจนถึงปฏิกิริยาคนอเมริกันส่วนใหญ่ปฏิเสธทรัมป์ พร้อมใจกันทำตัวเป็นพัดลมส่ายหน้าเมินหนีทรัมป์ และไม่ต้องการบ้าบอคอแตกไปกับทรัมป์อีกต่อไป
ปฏิกิริยาของทรัมป์ ภายหลังการเลือกตั้ง ไม่เพียงไม่ยอมรับในความพ่ายแพ้ และไม่รู้สึกสำนึกในความผิดพลาด บกพร่องของการประพฤติปฏิบัติตัวเป็นอันธพาล ปราศจากกิริยามารยาทของความเป็นนักการเมืองที่ดีบนเวทีการเมืองโลก แต่ทรัมป์กลับยิ่งอวดสำแดงสันดานต่ำช้าสามานย์หนักข้อยิ่งขึ้นไปอีกแบบไร้ขีดจำกัด ราวกับ”หมาจนตรอก”
เกมถ่อย-เถื่อนที่ทรัมป์ งัดออกมาใช้หลังแพ้เลือกตั้ง เริ่มต้นด้วยการรณรงค์โพนทนาว่ามีการโกงเลือกตั้ง แล้วจัดทีมลิ่วล้อเดินสายฟ้องศาลร้องขอความเป็นธรรม แต่ไม่มีศาลไหนบ้าจี้เล่นด้วย
เมื่อวิชามารขั้นที่ 1 ล้มเหลว ทรัมป์ ขยับวิชามารขั้นที่ 2 ด้วยการป่วนการประชุมคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ของทุกรัฐที่นัดหมายประชุมลงมติเลือกประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 แต่ลงเอยด้วยความล้มเหลว เนื่องจากคณะผู้เลือกตั้งเสียงข้างมากเกินกว่า 270 จากจำนวนทั้งหมด 538 คน เทคะแนนหนุนโจ ไบเดน
ผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ถูกส่งต่อไปยังรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาบรรจุเข้าวาระประชุมลงมติรับรองผลคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ตามบทบัญญัติของกฏหมาย
รัฐสภาได้นัดหมายประชุมพิจารณาลงมติประเด็นนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยไม่คาดหมายว่าทรัมป์ จะยกระดับกระทำการรุนแรงด้วยการยุยงปลุกปั่นมวลชนที่เป็นสาวก ให้บุกเข้าไปขัดขวางการประชุมของรัฐสภา กระทั่งเป็นชนวนนำไปสู่ความสูญเสียใหญ่หลวง และทำให้ประชาธิปไตย ซึ่งถูกเชื่อมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีว่าเป็นระบอบการปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน ต้องกลายเป็นประชาธิปไตยเปื้อนเลือด ที่ต้องสังเวยด้วยชีวิตพลเมืองอเมริกัน เพียงเพื่อเซ่นความบ้าระห่ำของโดนัลด์ ทรัมป์
เหตุการณ์นองเลือดครั้งประวัติศาสตร์ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานความมั่นคงต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัยขึ้นถึงขีดสุด ครอบคลุมบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา เพื่อไม่ต้องการให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมรุนแรงซ้ำสองในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่โจ ไบเดน จะประกอบพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ
ทำนองเดียวกันเหตุการณ์อัปยศที่อุบัติขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของอเมริกาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ยังเป็นชนวนนำไปสู่การยื่นญัตติถอดถอนทรัมป์ ให้พ้นจากความเป็นประธานาธิบดี ควบคู่กันไปกับการตัดสิทธิทรัมป์ ในการสมัครรับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีตลอดชีวิต
ญัตติถอดถอนทรัมป์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรไปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 13 มกราคม ด้วยมติเสียงข้างมาก 232 ต่อ 197 เสียง และอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการประชุมพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา
ในจำนวน 232 เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ที่โหวตหนุนญัตติถอดถอนทรัมป์ มีเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรครีพับริกัน ซึ่งทรัมป์ สังกัดรวมอยู่ด้วย 10 เสียง ประกอบด้วย 1 เสียงจากอิลลินอยส์-1 เสียงจากไวโอมิง-1 เสียงจากนิวยอร์ค-2 เสียงจากมิชิแกน-1 เสียงจากวอชิงตัน-1 เสียงจากโอไฮโอ-1 เสียงจากเซาท์คาโรไลน่า และ 2 เสียงจากแคลิฟอร์เนีย
การประชุมลงมติถอดถอนทรัมป์ ของวุฒิสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากทรัมป์หมดวาระพ้นสถานภาพความเป็นประธานาธิบดีไปแล้ว จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และเป็นที่จับจ้องรอลุ้นกันของคอการเมืองทั่วโลก
ผลลัพธ์สุดท้ายที่จะฝังทรัมป์ใส่หลุมไปตลอดกาล ต้องจบด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 2ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด
โหวตให้ถอดถอนทรัมป์
นั่นย่อมหมายถึงสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 67 คน จากทั้งหมด 100 คนต้องโหวตถอดถอนทรัมป์
ค่ายเดโมแครทที่มีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ 50 คนต้องไม่มีใครแตกแถว และต้องมีสมาชิกวุฒิสภาจากค่ายรีพับริกัน ยอมเป็น”งูเห่าเพื่อชาติ” อย่างน้อย 17 คนเทเสียงโหวตขับทรัมป์ไปในแนวเดียวกับเดโมแครท
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการลงมติถอดถอนทรัมป์ ตามครรลองของรัฐสภาจะสำเร็จหรือไม่ แต่โอกาสที่ทรัมป์ จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพจากอดีตประธานาธิบดี ไปสู่ความเป็น “อาชญากรก่อการร้าย” มีแนวโน้มสูงมาก
เหตุผลสนับสนุนความเชื่อว่าทรัมป์ อาจกลายเป็นอาชญากรก่อการร้าย และเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาติอเมริกา เป็นเพราะพฤติกรรมขอทรัมป์ ในการยุยงปลุกปั่นให้ก่อเหตุจราจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ล้วนสอดคล้องกับนิยามการก่อการร้ายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นซีไอเอ-เอฟบีไอ-กระทรวงกลาโหม
ยิ่งไปกว่านั้นยังสอดคล้องกับนิยามการก่อการร้าย ตามที่บัญญัติไว้ใน US Code of Federal Regulation ซึ่งระบุชัดเจนว่าการก่อการร้ายคือการใช้กำลังและความรุนแรงโดยผิดกฏหมายต่อบุคคล หรือทรัพย์สิน เพื่อขู่เข็ญ หรือบังคับรัฐบาล ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือสังคม
นอกจากนี้ United State Code Title 18 Part I Chapter 2331(5) ก็กำหนดนิยามการก่อการร้ายไว้ว่าการก่อการร้ายภายในประเทศ หมายถึงลักษณะพฤติกรรมที่ครอบคลุม 5 นัยยะ
นัยยะที่ 1 เป็นการกระทำที่ร้ายแรง หรือการกระทำอันตรายต่อมนุษยชาติที่เป็นการละเมิดกฏหมายอาญาของสหรัฐ หรือกฏหมายอาญาภายในรัฐต่างๆ
นัยยะที่ 2 เป็นการกระทำโดยเจตนาข่มขู่ หรือบังคับประชาชน
นัยยะที่ 3 เป็นการกระทำเพื่อมีอิทธิพลเหนือนโยบายรัฐบาล โดยการข่มขู่ หรือบังคับ
นัยยะที่ 4 เป็นการกระทำที่กระทบต่อการดำเนินงานของรัฐบาล โดยการทำลายล้างในวงกว้าง การลอบสังหาร หรือการลักพาตัว
นัยยะที่ 5 เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลสหรัฐอเมริกา
ชะตากรรมทรัมป์นับจากนี้ไป จะลอยนวลเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือจบลงที่คุก หรือ อวสานบนแท่นประหารชีวิต ที่ตัวเองปัดฝุ่นให้งัดขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือจัดระเบียบสังคม ต้องลุ้นระทึกกันต่อไป !!!
ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
20 ม.ค. 2564

About the Author

Related Posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save