Thomas Doe
Social WorkerNulla totam rem metus nunc hendrerit ex voluptatum deleniti laboris, assumenda suspendisse, maecenas malesuada morbi a voluptate massa! Hendrerit, egestas.
สัญลักษณ์ไปยาลน้อย”ฯ” เอาไม่อยู่ ต้องสัญลักษณ์ไปยาลใหญ่ ”ฯลฯ”เท่านั้น ทุกๆครั้งที่รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9
พลันที่มโนสำนึกน้อมรำลึกถึงพระองค์…หลากพระราชอิริยาบถ..หลายพระราชกรณียกิจ…และพระราชจริยาวัตรเปี่ยมล้นด้วยน้ำพระราชหฤทัยหาที่สุดมิได้ของพระองค์จะสว่างไสวบันดาลความอิ่มเอิบอย่างไร้ขีดจำกัด….
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในความทรงจำของปวงชนจำนวนมาก อาจจดจ่ออยู่เฉพาะโครงการตามพระราชดำริ หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีอยู่รวมกันกว่า 4,000 โครงการ ทั้งที่พระองค์ทรงปราดเปรื่องเป็นเอกอุในศิลปวิทยาการมากมายหลายสาขา รวมทั้งทรงเป็นองค์อัครศิลปิน ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน
เมื่อครั้งที่ยังดำรงพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้นิยามความหมายของศิลปินไว้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งถูกจารึกเป็นหลักฐานในหนังสือ”วรรณกรรมยอดเยี่ยม ในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา” ของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม….
“…ความเป็นศิลปิน หมายถึงความสามารถตามธรรมชาติ ที่จะเห็นความงามและคิดถึงความงาม เมื่อเกิดความคิดแล้วก็ต้องอาศัยวิชาความรู้หรือเทคนิค เช่นวิชาช่างเป็นต้น จึงแสดงออกมาเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม หรือศิลปกรรมในลักษณะอื่นๆได้…..การสร้างงานศิลปะทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดจัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ….”
ยิ่งไปกว่านั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสะท้อนความรักและความตระหนักในคุณค่าล้ำเลอค่าของภาษาไทยผ่านกระแสพระราชดำรัส ในโอกาสทรงร่วมประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2505 ซึ่งมีใจความสำคัญที่กินใจอย่างยิ่ง….
“ภาษาไทยนั้น เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี …..เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้”
พระอัจฉริยภาพสาขาวรรณศิลป์:
หลายคนอาจไม่เคยซึมซับพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาด้านวรรณศิลป์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณศิลป์ทรงคุณค่าไว้ถึง 17 ผลงาน
“พระราชานุกิจรัชกาลที่8” คือผลงานวรรณศิลป์ชิ้นแรก ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งถ่ายทอดพระราชจริยาวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 8 และสะท้อนถึงสายใยความรักความผูกพันแนบแน่นระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ กระทั่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการเรียกขานเป็น “บทพระราชนิพนธ์แห่งความรักและผูกพัน”
ขอถือโอกาสนี้อัญเชิญเนื้อหาบางส่วน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชา ในรัชกาลที่ 8 ได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน”พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 8” มาให้ชื่นชมกันดังนี้….
“ตามปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่นเวลาเช้าระหว่าง ๘.๓๐ นาฬิกา นอกจากทรงมีพระราชกิจบางอย่าง เช่น เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกรมกองทหารหรือสถานที่อื่น ๆ ก็ตื่นบรรทมเวลาย่ำรุ่ง หรือก่อนย่ำรุ่ง
เมื่อสรงและแต่งพระองค์แล้ว เสด็จมายังห้องพระบรรทมสมเด็จพระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีก่อน แล้วจึงเสด็จเสวยเครื่องเช้าพร้อมกันที่มุขพระที่นั่งด้านหน้าเวลาราว ๙.๐๐ นาฬิกา ถึง ๙.๓๐ นาฬิกา บางวันทรงพระอักษรหรือตรัสเรื่องต่าง ๆ กับสมเด็จพระราชชนนี
เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๐.๓๐ นาฬิกา ราชเลขานุการในพระองค์เฝ้าถวายหนังสือราชการทุกวันอังคารและวันศุกร์ ถ้ามีงานพระราชพิธีก็เสด็จพระราชดำเนินตามกำหนด
เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้าง สับเปลี่ยนกันเป็น วัน ๆ ดังนี้ คือ
๑. ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา
๒. ข้าราชการในกระทรวงและกรมต่าง ๆ ผลัดกันเข้าเฝ้าถวายรายงานกิจการตามหน้าที่ บางวันมีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า
๓. เสด็จพระราชพิธี
๔. ถ้าไม่มีการเฝ้าหรือพระราชกิจอื่นใดก็มักจะทรงพระอักษร บางวันทรงรถยนต์ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา เสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา เสวยเครื่องฝรั่งและไทย ส่วนเครื่องเสวยนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ลดจำนวนโดยเฉพาะเครื่องฝรั่งซึ่งเคยตั้งโต๊ะเสวยมาก่อนนั้นลงบ้าง ด้วยทรงพระราชดำริว่ามากเกินไป โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ที่ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วยในบางโอกาส บางวันเสด็จเสวยกลางวันอย่างปิคนิคที่ริมสระในสวนศิวาลัย
ตามธรรมดาเสวยเสร็จภายในเวลาประมาณ ๔๕ นาที แล้วเสด็จจากโต๊ะเสวย ทรงปราศรัยเรื่อง ต่าง ๆ กับผู้ที่มาร่วมโต๊ะเสวยต่อไป ถ้าไม่มีผู้ใดเฝ้าก็ทรงพักผ่อน
เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้าง ดังนี้
๑. ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา
๒. ข้าราชการ ชาวต่างประเทศ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า
๓. หากไม่มีพระราชกิจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มักจะทรงสำราญพระราชหฤทัยกับสมเด็จพระอนุชา
เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา เสวยเครื่องว่างบนพระที่นั่งเป็นปกติ นอกจากบางครั้งเสด็จลงเสวยที่ริมสระน้ำในสวนศิวาลัย เสวยเครื่องว่างแล้วถ้าไม่มีงานพระราชพิธีหรือไม่ทรงมีพระราชกิจอื่นใด ก็เสด็จวังสระปทุมเฝ้าเยี่ยมสมเด็จพระอัยยิกาบ้าง เสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติอื่นบ้าง มิฉะนั้นก็เสด็จประพาสพระนคร ทอดพระเนตรพระอารามและสถานที่สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ถ้าไม่เสด็จประพาสหรือมีพระราชกิจอื่นใดก็มักจะเสด็จลงทรงสำราญพระอิริยาบถกับสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา หรือทรงกีฬาบางอย่างเพื่อเป็นการบำรุงพระราชอนามัย แล้วเสด็จขึ้นทรงพักผ่อนเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา
เวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา เสด็จลงประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา บางวันโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วย เสวยเสร็จแล้วทรงปราศรัยเรื่องต่าง ๆ กับผู้มาร่วมโต๊ะเสวยภายหลังเวลาเสวยแล้ว ทรงพระราชกิจเปลี่ยนแปลงเป็นวัน ๆ ดังนี้ คือ
๑. พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า
๒. ทรงพระสำราญในการดนตรีกับสมเด็จพระอนุชาพร้อมด้วยนักดนตรี หรือผู้สนใจในการดนตรีที่ เข้ามาเฝ้าร่วมด้วย
๓. บางวันเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ ละคร หรือทรงฟังดนตรีในโรงละครสวนศิวาลัย
๔. บางวันเสด็จทรงรถพระที่นั่งประพาสพระนครเป็นไปรเวต บางทีทรงขับเอง
๕. บางวันทรงพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาและมหาดเล็ก ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เมื่อเสร็จพระราชกิจแล้ว ทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์แล้วเสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีก่อนบรรทม เสด็จเข้าที่พระบรรทมประมาณเวลา ๒๒.๓๐ นาฬิกา เป็นปกติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการเสด็จประพาสเยี่ยมประชาชนภายนอกเขตพระนคร ได้เสด็จตามท้องที่จังหวัดและอำเภอใกล้เคียง มีอำเภอสมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี พระประแดง ปากเกร็ด สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และบางเขน ภายในเขตต์พระนครได้เสด็จประพาสเยี่ยม สำเพ็งเพื่อให้ประชาชนชาวต่างชาติได้เฝ้าด้วย
พระราชกิจที่ทรงปฏิบัติในระหว่างเวลาเสด็จประพาสมีดังนี้ คือ
๑. ทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญในท้องที่
๒. เสด็จเยี่ยมสถานที่ราชการในท้องที่
๓. ทอดพระเนตรกิจการในสถานที่สำคัญ ๆ เช่น โรงงานและทอดพระเนตรการประกอบอาชีพ เช่น การทำนา การจับปลา การหัตถกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
๔. ทรงปราศรัยต่อประชาชนด้วยเครื่องกระจายเสียง
๕. ทรงปราศรัยต่อประชาชนเป็นรายบุคคล
๖. ทอดพระเนตรการเล่นหรือการแสดงถวาย
๗. พระราชทานรางวัลแก่ประชาชนที่นำของขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ในการเสด็จประพาสทั้งทางบกทางน้ำนี้ เสด็จพระที่นั่งในเวลาเช้า บางครั้งก่อนเสวยเครื่องเช้า บางครั้งภายหลัง เมื่อเสด็จก่อนเครื่องเช้าก็มักจะเสวยแต่เพียงเล็กน้อยก่อนเสด็จ และเสวยเครื่องเช้าในเรือพระที่นั่งบ้าง หรือสถานที่ ๆ เสด็จประพาสบ้าง
เสวยเครื่องกลางวันประมาณเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา หรือ ๑๓.๐๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร่วมโต๊ะเสวยด้วย เสวยแล้วทรงพักผ่อนเล็กน้อยก่อนที่จะทรงปฏิบัติพระราชกิจต่อไปในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระบรมมหาราชวังเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา โดยมาก
ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
13 ตุลาคม 2563
(ผลงานวรรณศิลป์ลำดับ ที่ 2 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คืออะไร…ติดตาม”9 ร. 9 “ตอนต่อไป)
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า