เปลือยชีวิตนักการเมือง: กว่าตะกายถึงดวงดาว ? (1)



นรัชต์ชัย ธนะสุธีรัชต์ เป็นความตั้งใจมานานแล้วครับ ในฐานะสื่อสารมวลชนที่คลุกคลีข่าวสารการบ้านการเมืองมานานกว่า 20 ปี ได้รู้ได้เห็นและยังได้สัมผัสด้วยตนเองกับบรรดา “นักการเมือง” มาหลายต่อหลายคนนัก ไม่ว่าจะในระดับชาติที่เป็นรัฐมนตรีหรือส.ส. ไปจนกระทั่งนักการเมืองระดับท้องถิ่น หลายปีมานี้ต้องยอมรับความจริงว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองดูจะไม่สง่างามสักเท่าใดนัก จะหาคนดีที่ทำประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติ ดูจะยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก แต่ถึงกระนั้นอาชีพ “นักการเมือง” ก็ยังเป็นที่ใฝ่ฝันและหอมหวานสำหรับใครต่อใครอีกหลาย ๆ คนที่โหยหาใน “อำนาจวาสนา” คนที่เพียบพร้อมทั้งฐานะการเงินและสังคมมันก็คงไม่ยากเย็นนักที่จะสานสู่ฝั่งฝัน แต่สำหรับคนที่ไม่มีต้นทุนอะไรติดตัว ประเภทมาแต่ตัวกับหัวใจก็คงต้องทนทุกข์ยากที่จะเดินสู่จุดหมายปลายทางแห่งฝัน

โดยสรุปรวมความแบบรวบยอด…ต้นทุนการเป็นนักการเมืองไทยไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ล้วนแล้วต้องมาจากเหตุปัจจัยพื้นฐาน 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือ ประการแรกต้องมีเงิน ซึ่งอาจจะมาจากครอบครัวหรือบรรพบุรุษเป็นเจ้าของกิจการสืบทอดติดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่นมีกิจการโรงเลื่อย โรงสีข้าว โรงแรม ห้างสรรพสินค้า รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น เรามักจะได้ยินผ่านหูกันบ่อยครั้งจากปากของคนกลุ่มนี้ว่า “รวยมาก่อนที่จะมาเล่นการเมืองจึงไม่ต้องโกงกิน” พอจะคุ้น ๆ หูกันมั้ยล่ะครับกับประโยคหรือคำพูดหวาน ๆ จากปากบรรดานักการเมืองเหล่านี้ หรือบางครั้งอาจจะมีประเภททำธุรกิจแบบสีเทา ๆ แทรกปะปนเข้ามาบ้างเช่น ประเภทบ่อนการพนัน หรือเป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน ฯลฯ นอกจากนี้อาจจะมาจากการถ่ายเทอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น เช่นสามีหรือภรรยาเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนแล้วเกิดเสียชีวิตลูก ๆ ก็เข้ามาสืบทอดอำนาจต่อ หรือในบางทีอาจจะมีประเภททั้งครอบครัวเป็นนักการเมือง เช่น สามีเป็นนักการเมืองระดับชาติ ภรรยาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น หรือบางทีลูกก็เป็นด้วย เรียกว่าเป็นครอบครัวนักการเมือง กระทั่งในบางครั้งเราอาจจะได้ยินคำว่า “สภาผัวเมีย”

ประการที่ 2 การมีต้นทุนทางสังคม กรณีดังกล่าวนี้อาจจะเคยรับราชการมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฯลฯ หรือบางทีก็เป็นครู เป็นหมอในพื้นที่นั้น ๆ หรือเคยเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยมาก่อน ก่อนจะหักมุมชีวิตเข้ามาช่วยงานพรรคการเมืองจนสามารถไต่เต้าขึ้นสู่สังคมการเมือง ก้าวขยับเป็นนักการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ไม่น้อยทั้งในสนามการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ต้องยอมรับความจริงว่า การจะประสบความสำเร็จในการหาเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากความขยันในการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนแล้ว ปัจจัยเรื่องของเงินก็คงหนีไม่พ้นอีกเช่นกัน จริงอยู่แม้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.จะได้กำหนดเรื่องของค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในทางนิตินัย นักการเมืองส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด แต่ค่าใช้จ่ายจริงทางพฤตินัยเป็นปริศนาที่ไร้คำตอบ….คุณว่าจริงมั้ยล่ะ? กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่ช้าไม่นานเกินลืม…มีผู้ใหญ่ในพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า “มึงรู้มั้ยถ้าจะลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในกรุงเทพฯเนี่ย มันต้องมีอย่างน้อย ๆ 5 แสนบาทนะมึง”

เมื่อเป็นเช่นนี้พอได้ขยับเข้ามาเป็นนักการเมืองแล้ว หลายคนก็ต้องพบกับสัจธรรมที่ว่าต้นทุนการเป็นนักการเมืองมันสูงมากจริง ๆ เพราะในแต่ละวันมีเรื่องชวนให้ต้องควักกระเป๋าจ่ายกันตลอดทั้งงานแต่งงาน งานบวช งานประเพณีในแต่ละช่วงเทศกาล ยังมีเรื่องของงานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และงานอื่น ๆ อีกสารพัด กรณีแบบนี้ ผมขอยกตัวอย่างนักการเมืองในเขตพื้นที่กรุงเทพฯสักนิด จากที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสมา พบว่าบางคนจะใส่ซองช่วยงานด้วย”อัตราดียว” เท่ากันหมด คือไม่ว่าจะงานศพ งานแต่งหรืองานอะไรต่าง ๆ เขาจะจ่ายอยู่ในอัตราเดียวกันหมดคือ 500 – 600 บาท ขณะที่คู่ต่อสู้ในพื้นที่อาจจะเกทับใส่ซองละ 1,000 บาทก็มีให้เห็น ทั้งนี้เพราะหวังใจว่าเงินดังกล่าวจะซื้อใจประชาชนในพื้นที่ในการแย่งฐานคะแนนของคู่ต่อสู้มาเป็นของตน

ตอนนี้ขอประเดิมด้วย ”เงินใส่ซอง” เป็นปฐมบทของการตะกายดาว… ตอนหน้าจะเติมความเข้มข้นด้วยความน่าตื่นเต้นของการก้าวย่างบนสังเวียนการเมืองของนักการเมืองแบบไทยๆ แล้วพบกันในตอนหน้าครับ!

About the Author

Related Posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save