9ร9 (2)

พระอัจริยภาพด้านวรรณศิลป์ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกเหนือจาก”พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 8” เมื่อครั้งดำรงพระอิสสริยยศเป็น”พระอนุชา”ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 ยังมีบทพระราชนิพนธ์ ตลอดจนบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ และสังคมอีกหลายเรื่อง….
“เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” น่าจะเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่สื่อสะท้อนสายใยแห่งพระราชหฤทัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อคนไทยและแผ่นดินไทยได้น่าซาบซึ้งใจอย่างที่สุด
พระองค์ทรงนิพนธ์”เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ในรูปแบบของไดอารี่บันทึกเหตุการณ์ประจำวันในช่วงระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนครั้งใหญ่หลวงที่สุดและสะเทือนใจอย่างที่สุดของพระองค์ ขณะที่ทรงมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา
สาระสำคัญบางตอนในบทพระราชนิพนธ์ที่ว่านี้ ณ วันที่ 19 สิงหาคมบันทึกไว้ว่า…
”เมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ…ตอบเขาไปว่าให้เข้ามาสิ เพราะเหตุว่าวันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฏร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก…”
วันเดียวกันนี้…พระองค์ได้ทรงบันทึกข้อความสำคัญ ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ และเป็นข้อความอมตะที่ได้รับการจดจำฝังลึกในก้นบึ้งแห่งหัวใจคนไทยมิรู้ลืม ตราบกระทั่งทุกวันนี้….
“….ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฏรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุดถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้างตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า อย่าละทิ้งประชาชน…. อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้…..”
พระอัจริยภาพด้านวรรณศิลป์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการจดบันทึก แต่พระองค์ยังทรงตื่นรู้ในการค้นคว้า..ติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อการรู้เท่าทันความเป็นไปของโลกอยู่ตลอดเวลา และนำเอาข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมาสังเคราะห์…วิเคราะห์…และพระราชนิพนธ์เป็นบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมส่วนพระองค์มากมายหลายประเด็น อีกทั้งยังทรงประยุกต์เป็นชุดความรู้สำหรับใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่พสกนิกรของพระองค์
บางส่วนของพระราชนิพนธ์บทวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พอจะอัญเชิญมาเป็นตัวอย่างได้แก่…
-เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ 4 เล็กดีรสโต จากต้นฉบับหนังสือ Small is Beautiful ของ E.F.Schumacher
-ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า จาก Radio Peace and Progress ในนิตยสาร Intelligence Digest ฉบับวันที่ 1เม.ย.1975
-การคืบหน้าของมาร์กซิสต์ จาก The Marxist Advance Special Brief
-รายงานตามนโยบายคอมมูนิสต์ จาก Following the Communist Line
-รายงานจากลอนดอน จาก London Report ในนิตยสาร Intelligence Digest :Weekly Review ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.1975
-ประเทศจีนอยู่ยง จาก Eternal Chinese ในนิตยสารIntelligence Digest :Weekly Review ฉบับวันที่ 13 ส.ค.1975
-ทัศนน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด จาก Surprising View from a Post-Allende Chile ในนิตยสาร Intelligence Digest :Weekly Review ฉบับวันที่ 20 ส.ค.1975
-เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น จาก Sauce of the Gander ในนิตยสารIntelligence Digest :Weekly Review ฉบับวันที่ 20 ส.ค.1975
-จีนแดง: ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก จาก Red China : Drug Pushers to the World ในนิตยสาร Intelligence Digest :Weekly Review ฉบับวันที่ 20 ส.ค.1975 /
-วีรบุรุษตามสมัยนิยม จาก Fashion in Heroes โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 1979 /
-ฝันร้ายไม่จำเป็นต้องเป็นจริง จาก No Need for Apocalypse ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 17 พ.ค.1975
ในลำดับต่อมา…พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีบทพระราชนิพนธ์ขนาดยาวอีกหลายเรื่อง โดยเริ่มจาก “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ซึ่งทรงแปลจากเรื่อง “A Man Call Interpid” ของ “William Stevenson”
แก่นแกนของบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ คือการถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่มุ่งมั่นทำความดี โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนอย่างลงตัวไร้รอยต่อกับหลักการทรงงาน ที่พระองค์ทรงถือปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ ผ่านโครงการตามพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ…..
“ติโต” เป็นอีกหนึ่งบทพระราชนิพนธ์แปล ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงแปลจากเรื่อง “Tito” ของ “Phyllis Auty”
สาระสำคัญในบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ติโต เป็น เรื่องราวของผู้นำประเทศที่มีความสามารถในการสร้างความปรองดอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงคุณค่าแห่งความสมานฉันท์สามัคคี ในการสร้างความเจริญพัฒนาแก่ชาติบ้านเมือง
นอกเหนือจากบทพระราชนิพนธ์แปลแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงดัดแปลงเค้าโครงเรื่องจากนิบาตชาดก มาสร้างเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งเรื่อง”พระมหาชนก”
เรื่องราวในบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก มีความสอดคล้องกับบริบทสังคมสมัยปัจจุบัน และสอดแทรกคติธรรม ตลอดจนข้อคิดในการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้วยปัญญา คู่คุณธรรม และความวิริยะพากเพียร
สำหรับบทพระราชนิพนธ์ฉบับสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร…คือ “ทองแดง”
“ทองแดง” เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงเล่าเรื่องราวสุนัขทรงเลี้ยง สอดแทรกคติสอนใจเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ความอ่อนน้อม ความมีระเบียบวินัย และความมีเมตตาเอาไว้อย่างซาบซึ้งและแยบยล
ผลงานวรรณศิลป์…คีตศิลป์…ตลอดจนโครงการตามพระราชดำริซึ่งล้วนยังประโยชน์สุขแก่ราษฏรไทย คือมรดกล้ำเลอค่าหาที่สุดมิได้ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้เป็นสมบัติคู่บ้านคู่แผ่นดินไทยผืนนี้ไปตราบกัลปาวสาน….และเป็นหลักฐานยืนยันคำมั่นสัญญาที่ตราตรึงในความทรงจำของคนไทยตลอดไป…
“ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้”
ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
5 ธ.ค.2563

About the Author

Related Posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save