ทีวีดิจิตอล เหมือนตู้ปันสุข..เหมือนตู้ละลายทรัพย์ (3)

การแจ้งเกิดทีวีดิจิตอล บนสารพัดความไม่พร้อม เหมือนทารกถูกบังคับทำคลอดก่อนกำหนด ทำให้ทีวีดิจิตอลทะยอยป่วยกระเสาะกระแสะ แล้วค่อยๆยกระดับความรุนแรงของอาการเพิ่มมากขึ้นถึงขั้น”กล้ามเนื้ออ่อนแรง”…”หัวใจวายเฉียบพลัน” ทั้งที่แพร่ภาพออกอากาศไปได้ไม่กี่น้ำ….

“เจ๊ติ๋มทีวี” โดยคุณพันธ์ุทิพา ศกุณต์ไชย เจ้าแม่ทีวีพูล ประเดิมตัดช่องน้อย”จอมืด”แบบดูโอ 2 ช่อง คือช่อง 15 กลุ่มรายการเด็กและครอบครัว และช่อง 17 กลุ่มข่าว นำร่องไปก่อนใครเพื่อน โดยถือฤกษ์ปิดสวิตซ์ยุติการออกอากาศตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 25 ก.ค.2558 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลโดยสรุปรวบยอดคือ “กสทช.ไม่รักษาสัจจะในการแพร่สัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ก่อนการแพร่ภาพออกอากาศของผู้รับใบอนุญาต”

“เจ๊ติ๋ม” ไม่เพียง”หักดิบ” กสทช. ด้วยการหยุดออกอากาศ โดยไม่แยแสต่ออำนาจตามกฏหมายของ กสทช.เท่านั้น แต่ยังตั้งทนายความฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อเดือนมิ.ย.2558 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช.คืนเงินค่าต๋งทั้งหมดที่จ่ายไปแล้ว และให้ กสทช.คืนหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งหมดของธนาคารที่วางเป็นประกันไว้

ปฏิกิริยาห้าวเป้งของ”เจ๊ติ๋ม”ตอนนั้น ทำเอาคนในวงการทีวี รวมทั้ง กสทช.ช็อคไปตามๆกัน และหลายคนคาดเดาว่า….”เจ๊ติ๋มซวยแน่..ซวยแน่เจ๊ติ๋ม!!!”

เกือบ 3 ปีผ่านไป…ล่วงมาถึงเดือนมี.ค.2561 ศาลปกครองกลางออกคำวินิจฉัย”เป็นคุณ”ใหญ่หลวงต่อ”เจ๊ติ๋ม” สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง สั่งให้ กสทช.คืนหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งหมดของธนาคาร คิดเป็นวงเงินรวมกันกว่า 1,300 ล้านบาทแก่”เจ๋ติ๋ม”

ผลลัพธ์จากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีพิพาทระหว่าง”เจ๊ติ๋ม” กับ กสทช. ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหัวเชื้อสำคัญที่ทำให้กสทช.ต้องจำใจยอมเปิดประตู”รับคืน”ใบอนุญาตก่อนครบกำหนด พร้อมกับพิจารณาจ่ายเงินชดเชย ควบคู่ไปกับการ”ยกเว้น”ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าใช้จ่ายในการแพร่ภาพออกอากาศ หรือที่เรียกขานกันทั่วไปในชื่อ” MUX” แบบ”เหมาเข่ง”ให้ทั้งหมด เป็นการ”สมนาคุณ”แก่ผู้รับใบอนุญาตที่”กัดฟัน”เดินหน้าประกอบกิจการต่อไปจนสิ้นอายุขัย ในปี 2572

แสงสว่างที่ปลายอุโมง ซึ่ง กสทช.เปิดช่องเอาไว้ มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลรวม 7 ช่อง พร้อมใจกันกระโจนเข้าใส่โดยไม่ชักช้า….

ทั้ง 7 ช่องที่ตัดสินใจ”ไม่ไปต่อ” และสมัครใจคืนใบอนุญาต แล้วรับเงินชดเชยตามที่ กสทช.กำหนด รวมกันประมาณ 4,000 ล้านบาทได้แก่ช่อง 13-14 กลุ่มรายการเด็กและครอบครัว…ช่อง 19-20-21 กลุ่มข่าว…ช่อง 26 และช่อง 28 กลุ่มวาไรตี้เอสดี

น่าสังเกตว่าผู้รับใบอนุญาตทั้ง 7 ช่อง ที่สมัครใจคืนใบอนุญาตยุติการประกอบการ มีขาใหญ่จากค่ายบีอีซี หรือ “ช่อง 3” อยู่ 2 ช่อง คือช่อง 13 และช่อง 28 ขณะเดียวกันก็มีค่ายเนชั่น-สปริงนิวส์ อยู่ 2 ช่องคือช่อง 19 กับช่อง 26 และมีค่ายอสมท. อีก 1 ช่องคือช่อง 14

ในที่สุดทีวีดิจิตอล ซึ่งประมูลกันดุเด็ดเผ็ดร้อนเพื่อชิงใบอนุญาต 24 ใบเมื่อปลายเดือน ธ.ค.2556 และกดปุ่มเริ่มต้นแพร่ภาพออกอากาศพร้อมกันเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2557 ยอมยกธงขาวไม่ไปต่ออีกแล้ว รวม 9 ช่อง…เหลือ 15 ช่อง คือ16-18-22-23-24-25-27-29-30-31-32-33-34-35-36 เลือกที่จะรับผลประโยชน์สมนาคุณมหึมามูลค่าเฉียด 33,000 ล้านบาทจาก กสทช. แล้วกัดฟันเดินหน้าผจญวิบากกรรมต่อไป…..

ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค1 ธ.ค. 2563

About the Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save